มุมมองของ SMEs
    โดย นิพนธ์ ศรีสวรรค์
    ที่ปรึกษาอาวุโส SMEThailand.NET

    ตอน: บทเตือนใจการเป็นผู้ประกอบการหรือนักลงทุนใหม่รายใหม่

    สมัยก่อนนี้ การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ หรือเรียกว่านักลงทุนใหม่ ในปัจจุบัน มักจะจะเกิดในหลายระดับ ของการดำเนินการ จะเห็นได้ว่านักลงทุนใหม่ที่มีพื้นฐานการทำงานแบบชาวบ้านมักจะไม่คิดมาก มีเงินก็ลงทุนเลย เช่น ซื้อรถเข็นมาขายผลไม้ ขายน้ำส้มคั้น หรือน้ำปั่น เช่น แถว ๆ ตรอกข้าวสารที่บางลำพู ในกรุงเทพ ซึ่งทำรายได้วันละหลายพันบาท จนเคยปรากฏเป็นข่าวกับเทศกิจอยู่เนือง ๆ สำหรับผู้ประกอบการที่มีความรู้ระดับปริญญา โดยเฉพาะที่จบทางบริหารธุรกิจ หรือบัญชี มักจะคิดหลายตลบ ในสมัยที่ผู้เขียนเรียน ป.โท บริหารธุรกิจ รุ่นผู้บริหาร เราเรียกวิธีวิเคราะห์ธุรกิจกันว่าการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility) เพื่อดูความเป็นไปได้ในการลงทุนว่าจะได้กำไร หรือขาดทุนอย่างไร มีระยะคืนทุนเมื่อไร โดยยึดตำราเป็นหลัก จากนั้นก็หาเงินลงทุนกันละแสน สองแสน มาลงทุนทำโรงงานรองเท้ากีฬา ซึ่งในช่วงนั้นก็นับว่า "บูม" สุดขีด โดยซื้อห้องแถว 3 ห้อง ราคาห้องละ 1 ล้านบาท เป็นที่สร้างโรงงาน ดำเนินการขอส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ กันอย่างถูกต้องเต็มรูปแบบ รับจ้างผลิตให้กับรองเท้ายี่ห้อดังจากต่างประเทศ มีน้องชายของเพื่อนซึ่งรับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ ที่จบ ป. โท วิศวกรรมการผลิต จากอเมริกา มาใหม่ ๆ ทำหน้าที่ผู้จัดการ โรงงาน ดำเนินการ 3 ปีแรกก็พออยู่ได้ เห็นว่ากิจการไปได้ดี จีงขยายการลงทุน กู้แบงค์อีกหลายสิบล้านเพื่อขยายโรงงาน ไปสร้างในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าไม่นานก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะเป็นการลงทุนใหญ่เกินขนาดมากไป อีกทั้งค่าจ้างผลิตในเวลาต่อมาเหลือเพียงคู่ละ 1 เหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้นประมาณ 23-25 บาทต่อเหรียญ แต่ถ้าเข็มเย็บหนังหักสัก 1 เล่ม ก็ต้องเสียไปเล่ม ละ 14 บาท ในที่สุดโรงงานแห่งนี้ก็ต้องเลิกกิจการไป ทั้ง ๆ ที่มีผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหารที่จบ ป.โท ทั้งในประเทศ จากมหาวิทยาลัยดัง ๆ และจบจากต่างประเทศที่ทำหน้าที่บริหารการผลิต แต่เด็กไปหน่อยไม่มีประสบการณ์ แถมดื้ออีกต่างหากรุ่นพี่ที่มีความชำนาญ หรือเคยเห็นเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กันห้ามหรือเตือนก็ไม่ฟังทำให้ผู้ถือหุ้นที่เหลือขาดทุนไปตาม ๆ กัน แถมมีหนี้ติดเป็นขวัญถุงอีกคนละหลายอัฐ บางคนโชคดีที่เห็นท่าไม่ดีก็ไม่เพิ่มทุนตอนที่ขยายโรงงานอ้างว่าไม่มีเงิน แถมขายหุ้นออกตัวเท่าราคาพาร์(ราคาทุนเมื่อซื้อหุ้นสามัญของบริษัท) คืนให้กับผู้บริหารผู้ก่อการ หลังจากที่ลงทุนมา 3-4 ปีไม่มีกำไรมาแบ่งกัน ส่วนหุ้นส่วนที่ถอนตัวไม่ทัน หรือลงไปมากแล้วต้องทนต่อไปยอมตายเอาดาบหน้าเพราะคิดว่าจะแก้ไขได้ แต่สุดท้ายต้องเลิกกิจการไปในที่สุดเพราะอาการสาหัสสุดเยียวยา ผู้บริหารชุดใหม่ไม่สามารถแก้ไขได้ทัน ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเพื่อนกันมองหน้ากันไม่ติดจนถึงเวลานี้

    จากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้าท่านเป็นนักลงทุนใหม่ประสบกับเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร ?

    ความสำเร็จจากความพยายามบนพื้นฐานของความขาดแคลน
    ผู้ถือหุ้นใหญ่ของกิจการที่กล่าวแล้วข้างต้นรายหนึ่ง ซึ่งจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เคมีจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ดำเนินธุรกิจซื้อมาขายไปสินค้าประเภทเคมีอุตสาหกรรมและปุ๋ยเคมีมาแต่เดิม โดยเปิดกิจการขนาดเล็ก ในสำนักงานเช่าสถานที่ของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง มีพนักงานเพียง 2 คน คือ พนักงานบัญชี และพนักงานส่งของอย่างละ 1 คน ธุรกิจดำเนินการมาได้ด้วยดี ผู้จัดการมีหน้าที่ติดต่อหาลูกค้าภายนอกเกือบตลอดเวลา โดยปล่อยให้พนักงานบัญชี ทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน และสรุปการขาย เรียกเก็บเงินจากลูกค้าด้วย การดำเนินการก็ราบรื่นพอสมควรโดยตลอด ประมาณ 2 ปีต่อมา หลังจากจบ การศึกษา ป โท แล้ว กิจการนี้ถูกไล่ที่ ทำให้ต้องไปซื้ออาคารพาณิชย์กว้าง 2 ห้อง 4 ชั้น เป็นสำนักงานแห่งใหม่ จ้างพนักงานเพิ่ม ทำให้มีต้นทุนดำเนินการสูงขึ้น จำเป็นต้องขยายตลาดมากขึ้น ในท้ายที่สุดต้องหาสถานที่เพื่อดำเนินการสร้างโรงงานผลิตสารเคมีเอง ทำให้ต้องมีการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่ม และต้องมีการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีเพื่อประเมินทรัพย์สินของกิจการก่อนการเพิ่มทุน พบว่ามีการทุจริตที่เกิดจากพนักงานบัญชีไปจำนวนมาก ไม่สามารถติดตามทวงถามได้เนื่องจากหลักฐานถูกทำลาย และมีการยักย้ายถ่ายเทเงินสดของกิจการไปทีละเล็กละน้อยแต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นมูลค่าหลายล้านบาท อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้กิจการนี้ยังคงอยู่ มีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งบนพื้นที่หลายสิบไร่เป็นของตนเอง เป็นกิจการที่มั่นคงและผลการดำเนินการมีกำไร

    ถ้าท่านเป็นนักลงทุนใหม่แล้วพบกับเหตุการณ์แบบนี้ ท่านจะดำเนินการอย่างไร ?

    ตอนต่อไป การเป็นผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่
    กลับหน้าแรก