เกี่ยวกับ SMEs
- ปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่ามีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือ SMEs ของไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งระบบเศรษฐกิจของไทยเราประสบกับปัญหาวิกฤติ ทำให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมากมายที่ต้องล้มเลิกกิจการไป แต่มีธุรกิจอยู่ประเภทหนึ่งที่รัฐบาลพยายามจะสนับสนุนให้อยู่รอด โดยเริ่มการสนับสุนอย่างจริงจังมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ มีท่านอดีตรํฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และท่านอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คืออาจารย์มนู เลียวไพโรจน์ ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2545) ท่านเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พยายามผลักดันให้โครงการต่าง ๆ
ที่สนับสนุนกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมของไทยอยู่รอด เติบโต และก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนมีการตั้งสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า ISMED เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือ SME ของไทยได้อย่างต่อเนื่องต่อไป เว็บไซต์นี้ขอขอบพระคุณท่านทั้งสอง และบุคคลอื่นที่มีส่วนสนับสนุนและไม่ได้เอ่ยนามมา ณ โอกาสนี้
SMEs คืออะไร ?
- เมื่อกล่าวถึง SMEs แล้ว บางครั้งยังมีความสับสนในความหมายอยู่ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
จึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิเช่นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารออมสิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม
รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ได้มาระดมสมองและพิจารณาให้ความหมายของ SMEs
ซึ่งเป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษว่า Small and Medium Enterprises หมายถึง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ซึ่งประกอบไปด้วยกิจการการผลิต กิจการค้าและกิจการการบริการ โดยได้กำหนดคุณลักษณะของวิสาหกิจที่จะเป็น
SMEs ให้พิจารณาจากเกณฑ์มูลค่าขั้นสูงของทรัพย์สินถาวร ที่กิจการนั้นมีอยู่ ดังนี้
ประเภท | ขนาดย่อม | ขนาดกลางและขนาดย่อม |
- การผลิต
| - ไม่เกิน 50 ล้านบาท
| - ไม่เกิน 200 ล้านบาท
|
- การบริการ
| - ไม่เกิน 50 ล้านบาท
| - ไม่เกิน 200 ล้านบาท
|
- การค้าส่ง
| - ไม่เกิน 50 ล้านบาท
| - ไม่เกิน 100 ล้านบาท
|
- การค้าปลีก
| - ไม่เกิน 30 ล้านบาท
| - ไม่เกิน 60 ล้านบาท
|
- ที่มา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
- จาก สาระสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หน้า 1-8 มกราคม 2542
ความสำคัญของ SMEs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ
- จากการศึกษาพบว่า สาระสำคัญที่ SMEs ทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดังนี้
- SMEs เป็นแหล่งรองรับการจ้างงานขนาดใหญ่และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพราะวิสาหกิจต่าง ๆ ได้เกิดอยู่ในทุกชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่กันเป็นหมู่เหล่า ในปี พ.ศ. 2542 มีการประมาณการว่า SMEs สามารถรองรับในการจ้างงานได้ถึง 4.5 ล้านคน
- SMEs สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้ารวมทั้งยังทำรายได้นำเงินตราต่างประเทศจากการส่งออก และยังสามารถผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า อันทำให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมากในแต่ละปี
- SMEs เป็นแหล่งสร้างเสริมประสบการณ์บริการแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือนักลงทุนหน้าใหม่ จากธุรกิจเล้ก ๆ และพัฒนาจนเติบโตในที่สุด
- SMEs เป็นหน่วยผลิตที่สนับสนุนและเชื่อมโยงไปสู่กิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและหรือกิจการขนาดย่อมด้วยกันเองในรูปแบบของการผลิตเป็นสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น ขั้นกลาง ด้วยวิธีการว่าจ้างผลิต หรือการรับช่วงการผลิต (Subcontracting)
- SMEs เป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ภาคการเกษตร ภาคการบริการขนส่ง ภาคการก่อสร้าง ภาคการค้าส่ง-ค้าปลีก
- การเกิดขึ้นของ SMEs ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศเท่ากับเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ที่ดีทางหนึ่ง
ลักษณะเด่นของ SMEs
- การประกอบอาชีพใด ๆ ก็แล้วแต่จะมีความแตกต่างกันในสาระของกระบวนการ SMEs ก็มีคุณลักษณะเด่นที่ควรทราบ ดังนี้
- การเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย เพราะใช้เงินทุนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆไม่มากนัก และเมื่อประกอบการแล้วเกิดมีปัญหาความสูญเสียโอกาสที่จะฟื้นตัวเกิดได้ง่ายกว่ากิจการขนาดใหญ่
- มีความคล่องตัวในการบริการจัดการ ผู้ประกอบการสามารถควบคุมดูแลกิจการได้ทั่วถึงและใกล้ชิด
- ดำเนินธุรกิจไม่ว่าด้านการผลิตสินค้า การจัดจำหน่ายหรือการบริการจะมีความยืดหยุ่นสูง สอดคล้องกับยุคการผลิตและการค้าที่ต้องการตอบสนองที่รวดเร็ว ตลอดจนการผลิตและการค้าที่มุ่งความหลากหลายของรูปแบบหรือบริการมากกว่ามุ่งปริมาณ
- สามารถสร้างความชำนาญเฉพาะอย่างเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ปัญหาของ SMEs ในภาพรวม
- จาการศึกษาวิจัย และเก็บรวบรวมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาโดยรวมของ SMEs ที่ประสบอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพอจะสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้
- ปัญหาด้านการตลาด
วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมส่วนใหญ่มักตอลสนองความต้องการของตลาดในท้องถิ่น หรือตลาดในประเทศ ยังขาดความรู้ความสามารถด้านการตลาดในวงกว้างโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการเปิดเสรีทางการค้าทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในท้องถิ่นหรือในประเทศที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น
- ขาดแคลนเงินทุน
วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมมักประสบปัยหาการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาลงทุนหรือขยายการลงทุน หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ และขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง
- ปัญหาด้านแรงงาน
แรงงานที่ทำงานในวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมจะมีปัญหาการเข้าออกสูง กล่าวคือ เมื่อมีฝีมือและมีความชำนาญงานมากขึ้น ก็จะย้ายออกไปทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีระบบและผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงทำให้คุณภาพของแรงงานไม่สม่ำเสมอและการพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้า
- ปัญหาข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต
โดยทั่วไปวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมักใช้เทคนิคการผลิตไม่ซับซ้อนเนื่องจากการลงทุนต่ำ และผู้ประกอบการ พนักงานขาดความรู้พื้นฐานที่รองรับเทคนิควิชาการที่ทันสมัย จึงทำให้ขาดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ดี
- ข้อจำกัดด้านการจัดการ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมักขาดความรู้ในด้านการจัดการ หรือการบริหารงานที่มีระบบ ใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้โดยเรียนถูกเรียนผิดเป็นหลัก อาศัยบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมาช่วยงาน การบริหารในลักษณะนี้แม้มีข้อดีในเรื่องการดูแลที่ทั่วถึงหากธุรกิจไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อกิจการเริ่มขยายตัวหากไม่ปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีระบบก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้
- ปัญหาการเข้าถึงการส่งเสริมของรัฐ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นจำนวนมากเป็นการจัดตั้งกิจการที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ เช่นผลิตตามบ้าน ผลิตในลักษณะโรงงานห้องแถว ไม่มีการจดทะเบียนโรงงาน ทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนการค้า ดังนั้นกิจการหรือโรงงานเหล่านี้จึงค่อนข้างปิดตัวเองในการเข้ามาใช้บริการของรัฐ หรือแม้แต่กิจการหรือโรงงานที่มีการจดทะเบียนถูกต้อง ก็มักไม่ค่อยอยากเข่ามายุ่งเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากปฏิบัติไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับการเสียภาษี การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม หรือการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดตามกฏหมาย นอกจากนี้ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ารัฐบาลจะได้ลดเงื่อนไขขนาดเงินลงทุนและการจ้างงาน หรือจูงใจให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้น แต่จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพียง 8.1 % เท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล
- ปัญหาข้อจำกัดด้านบริการส่งเสริมพัฒนาขององค์กรภาครับและเอกชน
การส่งเสริมพัฒนาวิสาหิจขนาดกลางขนาดย่อมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย ตลอดจนสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อจำกัดของหน่วยงานดังกล่าว เช่น ในเรื่องของบุคลากร งบประมาณ จำนวนสำนักงานสาขาในภูมิภาค การให้บริการส่งเสริมสนับสนุนด้านต่าง ๆ จึงไม่อาจตอบสนองได้ทั่วถึงและเพียงพอ
- ปัญหาข้อจำกัดในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล
เนื่องจากปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ข้างต้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยทั่วไป จึงค่อนข้างมีจุดอ่อนในการรับรู้ข่าวสารด้านต่าง ๆ เช่น นโยบายและมาตรการของรัฐบาล ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด เป็นต้น
ตอนต่อไป :หลักการการส่งเสริม SMEs ในภาพรวม :โครงการชุบชีวิต ธุรกิจไทย
- เว็บไซต์นี้ เป็นแหล่งความรู้ด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสนับสุนต่าง ๆ ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ SME และเป็นศูนย์กลางของที่ปรึกษาที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแนะนำ
และผ่านการอบรมการเป็นที่ปรึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ของรัฐ มาแล้ว โดยสามารถติดต่อกับที่ปรึกษาโดยตรงที่นี่
กลับหน้าแรก